หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

ระบบฝึกจัดวางท่าทางอัจฉริยะ - ฉลาดคิด




     ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของอาชีพ ทันตแพทย์หรือหมอฟันที่หลายคนไม่เคยรู้ ก็คือความผิดปกติของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณคอและหลังส่วนบน จากการนั่งปฏิบัติงาน ในท่าแบบเดิม ๆ เป็นเวลานาน  
ปัญหานี้พบมากและเป็นกันทั่วโลก และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทันตแพทย์ต้องเกษียณอายุก่อนเวลาอันควร
“ผศ.ทพญ.ดร.พรสวรรค์ ธนธรวงศ์” จากภาควิชาทันตกรรมทั่วไป คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่านี่คือที่มาของการพัฒนาระบบฝึกจัดวางท่าทางอัจฉริยะ (Intelligent Posture Trainer) ที่ตนเอง และ รศ.ทพญ.ดร.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ฝึกการจัดวางท่าทางในการปฏิบัติงานของทันตแพทย์ที่ดีขึ้น
โดยตัวระบบประกอบด้วยส่วนสำคัญหลัก ๆ  2 ส่วนด้วยกัน คือ ฮาร์ดแวร์ที่มีเซ็นเซอร์ในการเก็บข้อมูล จากองศาของการไหวของศีรษะและหลัง ในแนวก้ม-เงย เอียงซ้าย-ขวา และซอฟต์แวร์ ที่มีจุดเด่นคือสามารถพัฒนาได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  
ปัจจุบันพัฒนามาถึงเวอร์ชั่นที่ 3 ที่อยู่ในรูปแบบไร้สาย  ส่งข้อมูลผ่านบลูทูธไปยังสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นไว้
ส่วนตัวฮาร์ดแวร์ออกแบบให้ติดตั้งได้กับแว่นตาของทันตแพทย์ สั่งให้ทำงานได้ทั้งแบบตั้งค่าเองหรือแบบประมวลผลอัจฉริยะ  
เมื่อผู้ใช้มีองศาการเคลื่อนไหวของศีรษะหรือหลังมากกว่าที่กำหนด   หรืออยู่ในท่าที่ผิดปกติเป็นเวลานาน ๆ ระบบจะทำการเตือนผ่านสมาร์ทโฟนทั้งในรูปแบบเสียงหรือสั่น นอกจากนี้ยังสามารถเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา ซึ่งจะบอกได้ว่ามีความเสี่ยงในการเกิดอาการโครงร่างและกล้ามเนื้อผิดปกติมากน้อยแคไหน
ผู้วิจัยบอกว่า ระบบนี้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เวอร์ ชั่นแรกได้รับรางวัล เหรียญทองสิ่งประ ดิษฐ์นานาชาติที่เกาหลีใต้ เมื่อปี 2555 ส่วนเวอร์ชั่น 2 เป็นการพัฒนาแบบอุปกรณ์แยกแต่ได้ผลไม่เป็นที่พอใจ  ปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นที่ 3 หรือแบบไร้สาย ที่เพิ่งคว้ารางวัลเหรียญเงินจากงานแสดงสิ่งประดิษฐ์เจนีวา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ระบบนี้ได้นำมาทดสอบใช้งานกับนิสิตทันตแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อฝึกท่าทางที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ  ซึ่งผลการศึกษาออกมาเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับอนาคต ผู้วิจัย บอกว่า สามารถนำไปประยุกต์ไช้กับส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผู้ป่วยพาร์คินสัน การป้องกันเด็กตกเตียง และการฝึกท่านั่งทำงานที่ถูกต้องสำหรับพนักงานออฟฟิศ
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการพัฒนาบุคลิกภาพได้อีกด้วย.
อ้างอิงถึงhttp://www.dailynews.co.th/technology/230690

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น