หน้าเว็บ

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

‘ไอซีที’ พัฒนา ‘ไทยแลนด์ สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น’โปรแกรมใช้งานบนแท็บเล็ต นำร่องสาธิตจุฬาฯ


“เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” เรามักจะได้ยินเสมออยู่บ่อยครั้ง การที่จะส่งเสริมให้เด็กไทยมีความสามารถนอกจากมันสมองและการใฝ่รู้ของตัวเด็กเองแล้ว การได้รับการสนับสนุนที่ดี ผู้ใหญ่ในวันหน้าจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ในการจัดการการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาอัจฉริยะ หรือ ไทยแลนด์ สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น แพลตฟอร์ม ตามนโยบายการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาไทย ในโครงการคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) เพื่อการศึกษา

โดยปัจจุบัน การศึกษาไทยจะต้องทัดเทียมกับนานาชาติ จึงมอบนโยบายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และทีมงานโปรแกรม เมอร์ พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ “ไทยแลนด์ สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น” เพื่อทดสอบการทำงานในโครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และแพลตฟอร์มมาตรฐานเพื่อให้บริการระบบซอฟต์แวร์ด้านการศึกษาไทย ที่ใช้งานได้ทั้งบนอุปกรณ์แท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์พีซี บนแพลตฟอร์มยอดนิยมทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไอโอเอส  และวินโดว์ส

ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทาง การศึกษาด้วยระบบ อีเลิร์นนิ่ง ที่สามารถส่งความรู้ไปยังนักเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ให้นักเรียนได้ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการศึกษาได้อย่างกว้างขวาง เป็นการปฏิรูปการศึกษาให้ก้าวไกล สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่กำลังเปลี่ยนไปในอนาคตน.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ไทยแลนด์ สมาร์ท เอ็ดดูเคชั่น จะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มาผนวกกับเครือข่ายข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ ระบบบริการคลาวด์ และนำแท็บเล็ต มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการศึกษา กระจายโอกาสทางการศึกษาได้อย่างดี

ซึ่งมีการพัฒนามาตรฐานหลักสูตรการเรียนรู้และวิธีการทดสอบความรู้ การพัฒนาครู อาจารย์ ในด้านทักษะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการสอน การพัฒนาการวิจัยและประเมินผล ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาการศึกษาเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการนำร่องการนำระบบแอพพลิเคชั่นสำหรับการศึกษาบนแท็บเล็ตขยายผลสู่การปฏิบัติจริง เพื่อเป็นต้นแบบให้บริการแก่โรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศในอนาคต จะมุ่งเน้นการใช้งานเพื่อส่งเสริมการทำแบบฝึกหัดของนักเรียน และการจัดการระเบียนคะแนนสะสมของนักเรียน

สำหรับระบบดังกล่าวจะครอบคลุมการใช้งานสำหรับผู้ใช้งาน 4 ฝ่ายที่สำคัญ คือ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน ถือเป็นกลไกในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยจะเชื่อมโยงการเรียนรู้ทั้งจากโรงเรียนและบ้าน นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ครูและผู้ปกครองสามารถติดตามพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนได้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้

การจะให้ความรู้แก่เด็ก นอกจากการสั่งสอนจากบิดา มารดาแล้ว การผลักดันวิชาความรู้จากรั้วโรงเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญมากเช่นกัน เพราะปัจจุบันโลกพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง รูปแบบการเรียนการสอนจึงต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน

หวังว่าการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาผสมผสานกับสื่อการเรียนสมัยใหม่จะทำให้อันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยที่ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 8 ถือเป็นอันดับสุดท้ายของกลุ่มภูมิภาคอาเซียนจะขยับขึ้นมาเป็นลำดับต้นได้ในเร็ววัน.

อ้างอิงถึงhttp://www.dailynews.co.th/technology/231988

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น