หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พาที:ส่งเอสเอ็มเอสฟรีด้วยเสียงพูด - ฉลาดสุดๆ


                  พัฒนาไปอีกขั้น สำหรับเทคโนโลยีที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนอยากใช้
    กับ “เทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูด” หรือ Automatic Speech Recognition (ASR) ที่จะช่วยแปลงเสียงพูดให้เป็นข้อความได้อย่างอัตโนมัติ
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูด ได้ถูกนำไปใช้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการในหลายสาขา เช่น ช่วยเพิ่มจำนวนครั้งที่ลูกค้าโทรฯติดต่อเข้ามายังบริษัท ลดค่าใช้จ่ายในศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ รวมถึงการนำไปใช้ในวงการแพทย์ซึ่งมีนักการแพทย์มากกว่า 400,000 คน ที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการจดรายงานการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยในโรงพยาบาล
และล่าสุด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอ นิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “พาที” หรือระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทย เพื่อให้คนไทยได้ทดสอบการใช้งานและร่วมกันสร้างฐานข้อมูลให้กับระบบ
ดร.ชัย วุฒิวิวัตร์ชัย จากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเสียง หน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ เนคเทค หัวหน้าโครงการฯ บอกว่า เนคเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมากว่า 10 ปี เดิมเทคโนโลยีนี้มักจะจำกัดอยู่ในวงการศึกษาวิจัย
แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทไทยรวมถึงเนคเทค ได้พยายามประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูดภาษาไทยมากขึ้น แต่ยังอยู่ในเนื้อหาที่จำกัด
เพื่อเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาระบบให้ถึงจุดที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและสามารถประยุกต์ไปใช้ในบริการได้หลากหลาย จำเป็นต้องเปิดบริการทดสอบในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสภาวะแวดล้อมการใช้งานจริงมากที่สุด
โดยแอพพลิเคชั่นพาทีที่เปิดให้ทดสอบการใช้งานนี้ เบื้องต้นรองรับเฉพาะผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส เวอร์ชั่น 6 ขึ้นไป ทั้ง ไอโฟน และไอแพด เนื่องจากคุณภาพไมโครโฟนมีการปรับใช้งานที่ดี ส่วนระบบแอนดรอยด์นั้นยังไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากมือถือแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน ทำให้แอพพลิเคชั่นทำงานลำบาก
การทดลองมีระยะเวลา 10 เดือนสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 57
สำหรับบริการหลักของแอพพลิเคชั่นนี้ ก็คือการส่งเอสเอ็มเอสฟรีด้วยเสียงพูด เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นพาที จากแอพสโตร์ ฟรี
วิธีการใช้งานง่าย ๆ ด้วยการเข้าสู่ระบบผ่านเฟซบุ๊ก จะมีบริการฝากข้อความเสียง จากนั้นผู้ใช้งานกดปุ่มสีเขียวเพื่อบันทึกเสียง แล้วกดปุ่มหยุดเพื่อทำการบันทึกเสียง กดหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการส่ง
พนักงานที่ให้บริการอยู่เบื้องหลังจะถอดข้อความเสียงพูดที่เข้ามายังระบบ และส่งข้อความที่ถอดได้ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ปลายทาง พร้อมทั้งส่งอีเมลยืนยันบริการเสร็จสมบูรณ์กลับไปยังผู้ใช้
นอกจากบริการหลักที่ใช้ส่งเอสเอ็มเอส ฟรีแล้ว พาทียังมีบริการเสริมเพื่อทดสอบใช้งานระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทยที่พัฒนาขึ้นด้วย ภายใต้บริการ ASR ผู้ใช้สามารถพิมพ์ข้อความใด ๆ ด้วยการพูด ข้อความที่ได้สามารถนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือแชร์ต่อได้อีกด้วย
สำหรับความถูกต้องแม่นยำในการแปลงภาษาพูดเป็นข้อความนั้น ดร.ชัย บอกว่า ขณะนี้มีความถูกต้องประมาณ 50% คำศัพท์ส่วนใหญ่เป็นด้านการท่องเที่ยว และกีฬาต่าง ๆ
แต่เมื่อผ่านช่วงทดลองไปแล้วจะเพิ่มประสิทธิภาพความถูกต้อง แม่นยำได้กว่า 80% สามารถรองรับการพูดได้แบบไม่จำกัดเนื้อหา
แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือประชาชนเข้ามาใช้งานจึงจะได้ฐานข้อมูลใหม่และมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยบอกว่า พาทีจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในการสร้างระบบประยุกต์ที่ใช้เสียงพูดในการติดต่อสื่อสาร
สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาห กรรมโทรคมนาคม เพิ่มปริมาณการรับสายของคอลเซ็นเตอร์ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย มีระบบติดตามการประเมินผลตลอดเวลา สามารถบรรยายใต้ภาพที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรม    ทีวีดิจิทัล ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) หวังให้เข้าถึงทุกคนทั่วถึงและเท่าเทียมกัน รวมถึงการถอดความเสียงบันทึกการประชุม อาทิ ศาล และประชุมรัฐสภา
อ้างอิงถึงhttp://www.dailynews.co.th/technology/228663

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น